นางวงศ์เดือน และ นายจรัล รุ่งเรือง สองสามีภรรยาเกษตรกรชาวตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ที่ได้ใช้พื้นที่การเกษตรของตนปลูกเผือก สลับแปลงปลูกมะเขือพวงและมะเขือเทศ ในรูปแบบไร่ริมนา เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกอยู่ในพื้นที่นาดอนห่างไกลระบบชลประทาน อาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียวสำหรับการบำรุงพืชในการทำนาและแปลงปลูกพืช เกษตรกรรายนี้จึงทำนาน้ำฝนควบคู่กับการปลูกเผือกในสภาพที่ดอนทั่ว ๆ ไปโดยเผือกจะเริ่มปลูกตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงมิถุนายน มีการเตรียมดินก่อนปลูก 1-2 เดือน หลังจากพรวนดินยกร่องเรียบร้อยแล้วก็ตากแดดไว้ระยะหนึ่งจากนั้นจึงย่อยดิน หว่านปูนขาวรวมทั้งปุ๋ยคอก ก่อนปรับดินอีกครั้ง ขุดหลุมกว้าง 30-40 เซนติเมตร ลึก 20-30 เซนติเมตร ระยะปลูกระหว่างต้น 50 เซนติเมตร ระยะระหว่างแถว 1 เมตร โดยใช้ปุ๋ยคอกใส่รองก้นหลุมก่อนปลูกใช้หัวพันธุ์ที่มีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 3 เซนติเมตร ฝังลงไปในหลุมที่เตรียมไว้ พื้นที่ 1 ไร่ จะใช้หัวพันธุ์เผือกประมาณ 100-200 กิโลกรัม จากนั้นพูนโคนเมื่อเผือกเริ่มแทงยอด และคลุมด้วยฟางข้าว เนื่องจากหัวเผือกคือลำต้นใต้ดินที่ขยายออกเพื่อสะสมอาหาร จึงเจริญเติบโตขึ้นมามากกว่าลงหัวลึกลงไปในดิน จึงต้องคอยพูนโคนอยู่เสมอ จากนั้นให้น้ำอย่างทั่วถึง
สำหรับแปลงปลูกของนางวงศ์เดือน และ นายจรัล รุ่งเรือง นั้น นอกจากจะได้น้ำจากท้องฟ้าในช่วงฤดูฝนแล้วก็ยังมีสระน้ำในพื้นที่ ที่ได้รับการสนับสนุนงบประมาณในการสนองพระราชดำริ ตามที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จากการขอพระราชทานความช่วยเหลือ ของร้อยตำรวจตรี พัฒนา สัมมาทิตฐิ ราษฎรในจังหวัดกาญจนบุรี ในการพัฒนาแหล่งน้ำและขุดคลองชลประทานต่อเชื่อมจากคลองชลประทานเดิมที่รับน้ำจากเขื่อนวชิราลงกรณ เพื่อส่งน้ำให้ราษฎรในตำบลหนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี ซึ่งประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค และทำการเกษตร ด้วยการพัฒนาแหล่งน้ำขนาดเล็ก พร้อมปรับปรุงแหล่งน้ำเดิมเพื่อเก็บกักน้ำไว้ใช้ในฤดูแล้ง โดยขุดสระเก็บน้ำในระดับไร่นา ความจุ 1,410 ลูกบาศก์เมตร ในพื้นที่การเกษตรของราษฎร 16 หมู่บ้าน ตำบล หนองโรง อำเภอพนมทวน จังหวัดกาญจนบุรี โดยแยกเป็นปี พ.ศ. 2548 จำนวน 200 แห่ง และปี พ.ศ. 2552 จำนวน 362 แห่ง รวมเป็น 562 แห่ง พร้อมกับดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าบ้านหนองโรง 2 พร้อมระบบส่งน้ำ โดยสูบน้ำจากคลองส่งน้ำท่าล้อ-อู่ทองที่รับน้ำจากเขื่อนแม่กลอง เพื่อเป็นแหล่งน้ำสูบไปใช้ประโยชน์ในพื้นที่ตำบลหนองโรง และเพื่อสนับสนุนสระน้ำให้ได้รับประโยชน์จากแหล่งน้ำดังกล่าว ต่อไป แปลงปลูกเผือกของเกษตรกรรายนี้จึงมีน้ำเพียงพอและสามารถปลูกเผือกได้ตลอดทั้งปี นางวงศ์เดือน ได้เล่าให้คณะสื่อมวล ชนในโครงการสื่ออาสาสืบสานพระราชดำริ ที่เดินทางเข้าเยี่ยมชมการทำการเกษตรในพื้นที่เมื่อวันก่อนว่า ในการบำรุงแปลงปลูกเผือกนั้น นอกจากจะให้น้ำอย่างต่อเนื่องแล้วจะใส่ปุ๋ย 3 ครั้ง โดยครั้งที่ 1 ก่อนปลูกรองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกอัตรา 1-3 กำมือต่อต้น จากนั้นใส่ครั้งที่ 2 เมื่ออายุ 2 เดือน และครั้งที่ 3 เมื่ออายุ 3-4 เดือน จะทำให้เผือกมีน้ำหนักหัวดี จะพูนโคนในระยะ 1-3 เดือนแรก จากนั้นเดือนละ 1 ครั้งไปจนต้นเผือกโตใบคลุมแปลงแล้วจึงเลิกพูนโคนรอเก็บเกี่ยว ซึ่งจะมีผู้ซื้อเดินทางมาซื้อถึงแปลงพร้อมแรงงานในการขุด ส่วนเจ้าของแปลงรอรับเงินไม่ต้องออกแรงการเก็บเกี่ยว ส่วนมะเขือพวงและมะเขือเทศ ซึ่งปลูกในแปลงข้างเคียงก็จะได้รับปุ๋ยและน้ำที่นำมารดในแปลงเผือกไปพร้อม ๆ กันด้วย และสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งจำหน่ายในตลาดได้อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีรายได้ในระหว่าง รอการเก็บเกี่ยวเผือก.
ที่มา : dailynews.co.th/Content/agriculture/248044
|