ผู้ว่าฯ กทม. ห่วงระดับความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยาสูง กระทบเกษตรกร ขณะปริมาณน้ำที่บางไทร อยุธยา อาจน้อยกว่า 6 ล้าน ลบ.ม. ส่วนกรณี เลขาฯ ลาออก เรื่องปกติ... วันที่ 21 ก.พ.57 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เปิดเผยภายหลังลงพื้นที่เพื่อตรวจวัดสภาพความเค็มของน้ำในคลองราษฎร์บูรณะ คลองศรีสุราษฎร์ ซอยสุขสวัสดิ์ 30 และคลองบางมด บริเวณท่าน้ำพุทธบูชา เขตราษฎร์บูรณะว่า ขณะนี้กรุงเทพมหานคร กำลังเข้าสู่สภาวะวิกฤติน้ำเค็ม ซึ่งตามค่ามาตรฐานความเค็มของน้ำของสหรัฐอเมริกา หากสูงเกิน 1.5 กรัม/ลิตร ไม่เหมาะที่จะนำไปใช้เพื่อการเกษตร ส่งผลไม่ดีต่อพืชผลทางการเกษตร ซึ่งขณะนี้ความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาสูงกว่า 1.5 กรัม/ลิตร จากการตรวจวัดค่าความเค็มของน้ำตามจุดวัดต่างๆ เมื่อวันที่ 19 ก.พ. 57 ท่าน้ำนนท์ วัดได้ 5.0 กรัม/ลิตร สะพานพระราม 7 5.5 กรัม/ลิตร สะพานปิ่นเกล้า 7.8 กรัม/ลิตร สะพานพุทธ 9.3 กรัม/ลิตร สะพานกรุงเทพ 11.5 กรัม/ลิตร สะพานพระราม 9 13.8 กรัม/ลิตร ช่องนนทรี 14.3 กรัม/ลิตร บางนา 18.1 กรัม/ลิตร พระประแดง 20.2 กรัม/ลิตร ถือว่าสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานค่อนข้างมาก และจากการวัดความเค็มของน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาวันนี้ บริเวณนอกประตูระบายน้ำคลองราษฎร์บูรณะอยู่ที่ 12.6 กรัม/ลิตร และบริเวณคลองศรีสุราษฎร์ ซอยสุขสวัสดิ์ 30 อยู่ที่ 6.2 กรัม/ลิตร ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์เช่นเดียวกัน
ขณะนี้ กทม. ใช้ระบบประตูระบายน้ำเข้าช่วย ดังนั้น น้ำที่อยู่ภายในประตูระบายน้ำความเค็มยังต่ำเกษตรกรยังสามารถนำไปใช้เพื่อการเกษตรได้ แต่ที่สำคัญ คือ น้ำที่จะทำให้น้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะผลักดันน้ำทะเลออกไปซึ่งในขณะนี้ระดับน้ำในเขื่อนภูมิพลและเขื่อนสิริกิติ์อยู่ในระดับที่ต่ำมาก เขื่อนภูมิพลน้ำอยู่ที่ระดับประมาณ 47% เขื่อนสิริกิติ์อยู่ที่ระดับประมาณ 50% ปล่อยน้ำมา 20 ล้านลบ.ม./เขื่อน รวมเป็น 40 ล้าน ลบ.ม. แต่ถึงบางไทรเหลือเพียง 6 ล้าน ลบ.ม. ไม่เพียงพอที่จะดันน้ำทะเลออกไป และได้รับรายงานว่า มีแนวโน้มที่เขื่อนทั้งสองจะปล่อยน้ำน้อยลง ดังนั้น ปริมาณน้ำที่มาถึงบางไทร จะน้อยกว่า 6 ล้าน ลบ.ม. ในอนาคตอันใกล้นี้อาจจะถึงขั้นวิกฤติในเรื่องของระดับความเค็มในแม่น้ำเจ้าพระยา และจะต้องคอยดูต่อไปว่า ระดับความเค็มของน้ำจะเป็นอย่างไร
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมหัวหน้าหน่วยงานของกรุงเทพมหานคร ครั้งที่ 1/2557 ณ ห้องรัตนโกสินทร์ ศาลาว่าการ กทม. (เสาชิงช้า) ว่า ที่ผ่านมากรุงเทพมหานคร ได้หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งในพื้นที่ ซึ่งขณะนี้ฝั่งพื้นที่กรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก เริ่มขาดน้ำที่ใช้ในการเกษตร ส่วนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก เป็นห่วงเรื่องระดับความเค็มในน้ำที่จะเพิ่มขึ้น เนื่องจากหากระดับความเค็มในน้ำเพิ่มขึ้นสูงมากก็ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้
ส่วนกรณีเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลาออกจากตำแหน่งนั้น ถือเป็นเรื่องปกติเนื่องจากที่ผ่านมา ในสมัยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครคนอื่นก็เคยมีรองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครลาออก จากตำแหน่งหลายคน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกประหลาดอะไร แต่ละคนอาจมีความจำเป็น จึงลาออก ซึ่งตนก็ไม่ได้เปลี่ยนรองผู้ว่าฯ ที่ปรึกษาฯ หรือเลขาฯ บ่อย และจากการสอบถามอดีตเลขาฯ รับทราบว่า เนื่องจากสุขภาพไม่ค่อยดี จึงอยากมีเวลาดูแลสุขภาพของตน ทางทีมงานฝ่ายการเมืองก็ไม่ได้มีปัญหาอะไร ขณะนี้ได้มอบหมายงานในหน้าที่เลขาฯ ให้ผู้รักษาราชการแทนตามสายงาน ทั้งนี้ การแต่งตั้งเลขาฯ คนใหม่แทนคนเก่านั้น ทางพรรคก็ไม่ได้ว่าอะไร ให้เกียรติตนเป็นคนตัดสินใจ อย่างไรก็ตาม ตนจะพิจารณาตามความเหมาะสมต่อไป
ที่มา : thairath.co.th
|