|
หอมญี่ปุ่น ส่วนใหญ่จะเป็นพืชผักที่เพาะปลูกกันในพื้นที่ของชาวไทยภูเขา
ดูเผินๆคล้ายกับต้นหอมทั่วไปแต่มีขนาดใหญ่กว่า ทรงต้นสูงกว่าหอมหัวใหญ่
ลำต้นจริงจะมีลักษณะเป็นแผ่นอยู่ระหว่างรากและใบ ใบมีลักษณะเป็นหลอดยาว คล้ายใบหอมขนาดใหญ่ มีจำนวน 6-7 ใบต่อต้น โดยใบนอกจำนวน 4 ใบ จะเป็นใบแก่ ใบอ่อนจะอยู่ด้านในจำนวน 2-3 ใบ
ลำต้นเทียม คือ ส่วนของกาบใบทำหน้าที่สะสมอาหารเป็นส่วนที่นำมาบริโภคซึ่งจะขยายตัวตามยาว
โดยทั่วไปลำต้นเทียมสูง 25-75 ซม. เส้นผ่าศูนย์กลาง 3-7 ซม. ขยายพันธุ์โดยใช้เมล็ด และการแยกกอ
ดินที่เหมาะสมกับหอมญี่ปุ่น เป็นดินร่วนซุย หรือร่วนปนทราย หน้าดินลึก ระบายน้ำได้ดี และมีอินทรีย์วัตถุสูง
ต้นหอมญี่ปุ่นจะไม่สามารถเจริญได้ดี ในดินที่เป็นกรดจัด pH ที่เหมาะสมคือ 0.6-6.8 ในดินที่มี pH ต่ำ ควรใส่ปูนขาวปรับสภาพดิน
ต้นหอมปกติจะไม่ลงหัว แต่ในกรณีที่มีช่วงแสงยาวกว่า 12 ชั่วโมงต่อวัน และมีอุณหภูมิสูงกว่า 20 ๐C
หัวจะเจริญแต่จะมีขนาดเล็กไม่เกิน 10 ซม. และเมื่อผ่านอุณหภูมิต่ำกว่า 13 ๐C และช่วงแสงสั้น พืชจะแทงช่อดอก
ส่วนในเขตร้อนดอกจะไม่เจริญ สภาพแปลงปลูกควรได้รับแสงอย่างเต็มที่
การเตรียมแปลงเพาะกล้า ในฤดูฝนควรอยู่ภายใต้หลังคาพลาสติก สำหรับ ฤดูร้อน/หนาวใช้อุโมงค์ตาข่าย
ทำแปลงกว้าง 1 เมตร รองพื้นปูนขาว ปริมาณ 30 กรัม/ตร.ม. ปุ๋ยคอก ประเภทมูลไก่แต่ไม่ควรใช้มูลไก่อัดเม็ด ปริมาณ 1 กก./ตร.ม.
คลุกให้ทั่วแปลง แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
การบ่มเมล็ด โดยการแช่เมล็ดในน้ำผสมยากันรา นาน 15 นาที ผึ่งเมล็ดไว้ประมาณ 30 นาที
แล้วห่อด้วยผ้าไว้ 1 คืน นำเมล็ดที่บ่มแล้ว หยอดในแปลงเพาะกล้า ขีดร่องขวางแปลงลึก 1 ซม. ห่าง 10 ซม.
หยอดเมล็ดที่บ่มแล้วห่างกัน 1 ซม. กลบดินบาง ๆ แล้วคลุมด้วยฟางรดน้ำวันละ 1 ครั้ง
เมื่อมีอายุได้ 2 เดือน จึงย้ายปลูก หรือสังเกตเส้นผ่าศูนย์กลางของลำต้นเทียมประมาณ 8 มิลลิเมตร (ลำต้นเท่ากับดินสอ)
กล้าสำหรับย้ายปลูกตัดปลายให้สูงกว่ายอด 2 ซม. ตัดรากเหลือ 1 ซม. แช่รากในน้ำผสม ไดเทนเอ็ม 45 นาน 10 นาที ก่อนย้ายปลูก
ในส่วนของ แปลงปลูกขุดพลิกดินตากแดดอย่างน้อย 14 วัน เพื่อฆ่าเชื้อในดิน กำจัดวัชพืช
หากสภาพดินเป็นกรด ควรใส่ปูนขาว อัตรา 100-200 กก./ไร่หลังจากเตรียมแปลงปลูกเรียบร้อยแล้ว
ก่อนปลูกควรรดน้ำให้แปลงมีความชุ่มชื่น แล้วทำการปลูก โดยขุดร่องลึก 30 ซม. ห่างกัน 80 ซม.
เลือกต้นกล้าที่มีขนาดเท่ากันปลูกก่อนในแปลงเดียวกัน กลบดินรดน้ำให้ทั่วแปลง
เก็บเกี่ยวเมื่ออายุได้ 60-80 วัน หัวมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 7-8 ซม. เลือกหัวที่มีทรงกลม
ไม่มีรอยแตก หรือรอยแผล ตัดใบออกให้เหลือก้านใบไม่เกิน 3 ซม. ล้างให้สะอาด แล้วผึ่งให้แห้ง
เฝ้าระวังโรคในช่วงระยะกล้า 0-60 วัน มักเกิดโรคโคนเน่า, โรครากปม, ระยะปลูก-ปลูกซ่อม 60-70 วัน
โรคที่จะเข้าทำลายประกอบด้วยโรคโคนเน่า, โรคราสนิม, โรครากปม, โรคใบจุดสีม่วง, เพลี้ยไฟ
ระยะพูนโคนครั้งที่ 1 หลังการปลูก 80-90 วัน มักเกิดโรคราสนิม, โรครากปม, โรคใบจุดสีม่วง, เพลี้ยไฟ
ระยะพูนโคนครั้งที่ 2 100-120 วัน โรคราสนิม, โรครากปม, โรคใบจุดสีม่วง, เพลี้ยไฟ
จนถึงระยะเก็บเกี่ยว ภายหลังปลูก 130-150 วัน
ส่วนที่นำมาบริโภค คือ ลำต้นเทียมที่มีลักษณะกลมยาวสีขาว จะประกอบด้วยน้ำตาล และโปรตีนสูง
สารกระตุ้นต่อมน้ำตา มีรสหวาน ป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ ลดคอเลสเตอรอล ความดันโลหิต
มีโพแทสเซียมช่วยในการขับปัสสาวะ ขับกรดยูริค.
และต้นหอมญี่ปุ่น ยังอุดมไปด้วยคุณค่าทางอาหาร มีแคลเซียมและฟอสฟอรัส รวมถึงวิตามิน A C และ K
ช่วยป้องกันหลอดเลือดหัวใจตีบ ลดคลอเลสเตอรอล และความดันโลหิต นอกจากนี้
ต้นหอมญี่ปุ่นยังนับเป็นพืชที่ประกอบอาหารได้หลากหลายชนิด บ้างก็นิยมรับประทานดิบ
บ้างนิยมนำไปดอง ยัดไส้ แกงจืด ผัดกับไข่ และเนื้อสัตว์ เช่น หมู ไก่
รวมถึงทานกับสลัด หรือนำมาจัดวางแต่งจานอาหารเพื่อเพิ่มความสวยงามด้วยนะครับ
|
|