การเพาะเลี้ยงปลาหมอในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังก่อนหน้านี้จะใช้วิธีการเพาะลูกพันธุ์ปลาหมอจากบ่อดิน และรวบรวมลูกพันธุ์ปลาหมอมาเลี้ยงเป็นปลาเนื้อแต่ไม่ประสบกับความสำเร็จเท่าที่ควร เนื่องจากปลาหมอที่เลี้ยงมีอัตราส่วนเพศผู้ประมาณ 34.9 เปอร์เซ็นต์ เท่านั้น ซึ่งปลาหมอเพศผู้มีขนาดเล็กไม่เป็นที่ต้องการของตลาดและราคาขายต่ำ ต่างจากปลาหมอเพศเมียที่มีลักษณะตัวโตอ้วนป้อม และน้ำหนักมากกว่าปลาหมอเพศผู้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุนี้การแปลงเพศลูกพันธุ์ปลาหมอให้เป็นเพศเมียจึงเป็นวิธีการหนึ่งที่สามารถเพิ่มผลผลิตให้มากขึ้น และมีระยะเวลาการเลี้ยงที่สั้นลง ผลตอบแทนดีขึ้น และมีความเป็นไปได้ที่จะนำไปส่งเสริมพัฒนาอาชีพการเพาะเลี้ยงปลาหมอแก่เกษตรกรในเขตพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง เพื่อให้ได้ปลาหมอมีขนาดและราคาตามความต้องการของเกษตรกร นำไปสู่การเลี้ยงปลาหมอในเชิงพาณิชย์ได้ ส่งผลให้เกษตรกรมีอาชีพ รายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนต่อไป และจากการศึกษาทดลองของงานประมงของโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นครศรีธรรมราชพบว่าการผลิตลูกพันธุ์ปลาหมอเพศเมียจากโรงเพาะฟักในปริมาณที่มากพอกับความต้องการของเกษตรกร สามารถทำได้และไม่จำเป็นต้องเพาะลูกพันธุ์ปลาหมอจากบ่อดิน เนื่องจากการเลี้ยงปลาหมอที่ได้จากโรงเพาะฟักนั้น ลูกพันธุ์ปลาหมอมีความแข็งแรง สมบูรณ์ คุ้นเคยกับการกินอาหารสำเร็จรูป และอัตราส่วนเพศเมียที่สูง ช่วยให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาหมอเพศเมียมีรายได้เพิ่มขึ้น ส่งผลทำให้เกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และจากการดำเนินงานของศูนย์พัฒนาประมงพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ในเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายสามารถขยายผลราษฎรในพื้นที่ทำการเพาะเลี้ยงได้ในปัจจุบัน สำหรับการเลี้ยงปลาหมอแปลงเพศในสภาพบ่อดินนั้น พื้นที่ที่เหมาะสมต้องมีน้ำเพียงพอสำหรับเลี้ยงในระยะเวลา 3-4 เดือนของการเลี้ยง โดยบ่อเลี้ยงต้องมีขนาดไม่เกิน 1 ไร่ ความลึกไม่ต่ำกว่า 1.5 เมตร ก่อนการเลี้ยงต้องเตรียมบ่อด้วยการตากบ่อให้แห้งอย่างน้อย 1-2 สัปดาห์ พร้อมหว่านปูนขาวเพื่อฆ่าเชื้อโรคและปรับพีเอสของดินก้นบ่อ ส่วนบริเวณคันบ่อทำการล้อมรอบด้วยอวนมุ้งสีฟ้า เพื่อป้องกันศัตรูของปลา นำน้ำเข้าบ่อเลี้ยงด้วยการกรองผ่านถุงกรองขนาด 24 ช่องตาต่อตารางนิ้ว เพื่อป้องกันศัตรูปลา ให้ได้ความลึก 70-80 เซนติเมตร หลังจากนั้นปรับคุณภาพน้ำให้เหมาะสมก่อนนำลูกปลาหมอแปลงเพศ ขนาด 2-3 เซนติเมตร มาปล่อยลงเลี้ยงในอัตราความหนาแน่น 30 ตัวต่อตารางเมตร หรือ 48,000 ตัวต่อไร่ หลังจากปล่อยปลาหมอลงเลี้ยง ให้อาหารเม็ดสำเร็จรูปชนิดลอยน้ำ มีโปรตีนไม่ต่ำกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ โดยให้ปลากินจนอิ่มวันละ 2 ครั้ง ช่วงเช้าและเย็น เวลาประมาณ 07.30 น. และ 17.00 น. และปรับขนาดเม็ดอาหารตามความเหมาะสมกับขนาดของปลา ระหว่างเลี้ยงควรตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำ และมีการเปลี่ยนถ่ายน้ำตามความเหมาะสม แต่ไม่เปลี่ยนแปลงมากจนเกินไปจนปลาเครียดไม่กินอาหาร การเลี้ยงจะใช้ระยะเวลาประมาณ 105-120 วัน จึงทำการรวบรวมผลผลิตโดยใช้อวนลากปลาหมอไปจำหน่าย ส่วนปลาหมอที่ตกค้างในบ่อควรวิดน้ำให้แห้งแล้วจับ โดยตลาดต้องการรับซื้อตามราคาขนาดของปลาโดยทั่วไป โดยปลาหมอ ขนาด 6-7 ตัวต่อกิโลกรัมจะอยู่ที่ประมาณ 65 บาท ปลาหมอ ขนาด 8-10 ตัวต่อกิโลกรัม ราคาประมาณ 55 บาท ปลาหมอ ขนาด 11-13 ตัว ต่อกิโลกรัม ราคาประมาณ 35 บาท ขนาด 15 ตัวขึ้นไปต่อกิโลกรัม ราคาประมาณ 20 บาท.
|