“ข้าวเหนียวเขี้ยวงู” เป็นหนึ่งในสายพันธุ์ที่กรมการข้าวนำออกมาพัฒนาสายพันธุ์ขึ้นใหม่อีกครั้งหลังจากที่ไม่มีข้าวสายพันธุ์นี้ปลูกในประเทศไทยมานาน ซึ่งข้าวเหนียวเขี้ยวงูที่วางขายอยู่ในตลาดทั่วไปนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวเหนียวพันธุ์ กข.6 ที่ผู้ประกอบการโรงสีนำมาผ่านกระบวนการขัดสีและขัดมันให้มากกว่าปกติ เพื่อให้มีลักษณะเมล็ดเล็ก หัวและท้ายแหลม เรียวยาวและมีความขาวมากกว่าข้าวเหนียวโดยทั่วไป
นายชาญพิทยา ฉิมพาลี อธิบดีกรมการข้าว กล่าวว่า แหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียวเขี้ยวงู ส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่จังหวัดทางภาคเหนือของประเทศไทย โดยเฉพาะในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แต่เดิมนั้นที่อำเภอแม่จันเป็นพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกกันอย่างแพร่หลาย และจากการสำรวจพบว่า ในแต่ละปีมีการส่งข้าวเหนียวเขี้ยวงูให้กับจังหวัดในภาคกลาง โดยแต่ละปี มีปริมาณการขึ้นส่ง 250–350 ตัน ในราคาตันละ 40,000 บาท ซึ่งสร้างรายได้เฉลี่ยประมาณปีละ 10–15 ล้านบาท สาเหตุที่ข้าวเหนียวเขี้ยวงูมีราคาสูงเนื่องจากมีกระบวนการผลิตหลายขั้นตอน โดยเฉพาะการขัดเงาหรือขัดสีเมล็ดที่มากครั้ง จึงทำให้มีค่าใช้จ่ายที่สูง ศูนย์วิจัยเชียงรายจึงเล็งเห็นว่า ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นข้าวพื้นเมืองชนิดหนึ่งของจังหวัดเชียงรายจึงควรนำกลับมาปรับปรุงพัฒนาขึ้นมาใหม่อีกครั้งเพื่อทดแทนการนำข้าวเหนียว กข.6 มาผลิตเป็นข้าวเหนียวเขี้ยวงู ซึ่งจะทำให้สามารถลดขั้นตอนการผลิตและประหยัดค่าใช้จ่ายอีกทางหนึ่ง ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ได้นำเอาข้าวเหนียวเขี้ยวงูกลับมาทดลองปลูกตั้งแต่ปี 2552 จนถึงปัจจุบัน เป็นระยะเวลา 6 ปี จนได้ข้าวเหนียวเขี้ยวงูสายพันธุ์ G.S.No.8974 ที่มีลักษณะประจำพันธุ์คือ เป็นข้าวที่ไว้ต่อช่วงแสง กอตั้ง ต้นแข็ง คอรวงยาว ระแง้ห่าง เมล็ดข้าวเปลือกเล็ก เรียวยาว ข้าวกล้องสีขาว มีความต้านทานต่อโรคไหม้และค่อนข้างต้าน ทานโรคขอบใบแห้ง ต้านทานเพลี้ยกระโดดหลังขาว เมื่อนึ่งหุงสุกแล้ว มีสีขาว นุ่ม เหนียวติดกันแต่ไม่เละมีความเลื่อมมันค่อนข้างมากและมีกลิ่นหอม มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระในรูปแบบของวิตามินอี ทั้ง 3 Isomer (ไอโซเมอร์) มีบทบาทสำคัญในขบวนการ metabolism (เมตาบอลิซึม)ในร่างกายโดยเฉพาะเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่ช่วยลดคอเลสเตอรอล สูงถึง 5.32 มิลลิกรัมต่อรำ 100 กรัม อีกทั้งยังมีสารช่วยลดการเกิดปฏิกิริยา oxidation (ออกซิเดชั่น) ซึ่งเป็นผลผลิตจากคอเลสเตอรอล ที่อาจก่อให้เกิดสารประกอบที่ทำให้เป็นอันตรายต่อเซลล์ ต่าง ๆในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคเส้นเลือดอุดตันในหัวใจ โรคที่เกี่ยวกับปอดและโรคมะเร็ง รวมทั้งอาการผิดปกติของวัยทอง มีปริมาณ 188.2 มิลลิกรัมต่อรำ 100 กรัม ตลาดของข้าวเหนียวเขี้ยวงูส่วนใหญ่จะเป็นการแปรรูป โดยการนำมาทำเป็นของหวาน ซึ่งก็คือ ข้าวเหนียวมูน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ที่ทำธุรกิจของหวานต่างเห็นตรงกันว่า ข้าวเหนียวเขี้ยวงูเหมาะที่จะทำเป็นข้าวเหนียวมูน อีกทั้งมีรสชาติที่ดีกว่าข้าวเหนียว กข.6 ที่วางขายตามท้องตลาด และนอกจากนี้ กรมการข้าวได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงพัฒนาการผลิตและการตลาดข้าวเหนียวเขี้ยวงูร่วมกับองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร หรือ อ.ต.ก. ในการช่วยเหลือเกษตรกรให้เป็นผู้ผลิตสินค้าข้าวเหนียวเขี้ยวงู โดยมอบหมายให้ศูนย์วิจัยข้าวเชียงราย ดำเนินการคัดเลือกและกำกับเกษตรกรเป็นผู้ดำเนินการปลูกข้าวในแปลงนาสาธิต 10 ไร่ และหากได้ผลผลิตแล้ว อ.ต.ก.จะเป็นผู้รับซื้อผลผลิตทั้งหมดในราคาที่ไม่ต่ำกว่าท้องตลาด และเนื่องจากข้าวเหนียวเขี้ยวงูเป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองของจังหวัดเชียงราย กรมการข้าวจึงมีแนวคิดที่จะนำข้าวเหนียวเขี้ยวงูขึ้นทะเบียนเป็นข้าว GI อีกชนิดหนึ่ง ทั้งนี้คาดการณ์ว่าตลาดข้าวเหนียวเขี้ยวงูในประเทศและส่งออกจะมีมูลค่ากว่า 6,700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตสูงพร้อมกับชาวต่างชาติส่วนใหญ่ชอบบริโภคข้าวเหนียวมูนโดยเฉพาะข้าวเหนียวมะม่วงและข้าวเหนียวทุเรียน
|