แก้ไขครั้งสุดท้ายโดย Nam เมื่อ 2017-2-27 13:47
ไปเจอกระทู้เกี่ยวกับทฤษฏีใหม่ในเว็บ Pantip เลยหยิบมาฝากเพื่อนๆทุกคนค่ะ
------------------------------------------------------------------------------------------------------
วันนี้มาฟังเกษตรทฤษฏีใหม่ @cp silom เลยเอาเลคเชอร์มาแชร์กันค่ะ
โดยหลักการคือ การแบ่งพื้นที่การเกษตรออกเป็น 4 ส่วน ส่วนแรกนั้น ให้ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 30% ของพื้นที่ทั้งหมด เนื่องจากการเกษตร จำเป็นต้องใช้น้ำ ส่วนที่สอง ให้ปลูกข้าว จำนวน 30% ของพื้นที่เพราะครอบครัวต้องกินต้องใช้ สำหรับเป็นแหล่งอาหารหลัก ส่วนที่สาม ให้ปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เก็บดอกผลไว้กินไว้ขาย เสริมสร้างรายได้ส่วนหนึ่งอีกทาง และส่วนที่สี่ เป็นพื้นที่สำหรับใช้สร้างสิ่งปลูกสร้างเช่น ที่อยู่อาศัย โรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ฉาง จำนวน 10% ของพื้นที่ จำนวนสัดส่วนของพื้นที่นี้ทั้งหมดสามารถปรับเพิ่มหรือลด ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของสภาพพื้นที่แต่ละแห่งได้ตามสะดวก ตัวอย่างคือ มีที่นาอยู่ที่ 4 ไร่ จะแบ่งออกเป็น 4 ส่วน อาจจะได้ประมาณส่วนละ 1 ไร่ แต่ให้พิจารณาถึงความจำเป็นและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ด้วย หากพื้นที่โดยรอบแห้งแล้วกันดาร ให้เผื่อเนื้อที่ของการปลูกต้นไม้ยืนต้นและสระเก็บน้ำมากหน่อย เนื่องจากน้ำเป็นสิ่งจำเป็น และหากมีแต่น้ำแต่ผืนดินไม่ชุ่มชื้นเพราะขาดต้นไม้ให้ร่มเงา น้ำก็จะขาดแคลน
การแบ่งพื้นที่ดังตัวอย่างมีดังนี้ พื้นที่ส่วนที่ 1 จำนวน 1.2 ไร่ ขุดสระกักเก็บน้ำจำนวน 2 สระ สามารถกักเก็บน้ำได้มาก เพียงพอต่อการนำน้ำมาใช้ในการทำการเกษตรได้ทั้งปีแต่การผันน้ำมาใช้นั้น หากพื้นที่กว้างใหญ่ เช่นมีเนื้อที่ประมาณ 12-13 ไร่ การขุดสระโดยใช้พื้นที่ถึง 3-4 ไร่นั้นยังคงต้องใช้เครื่องจักรกลในการสูบน้ำมาใช้ ทำให้สูญเสียพลังงานเชื้อเพลิงจำนวนมาก โดยเฉพาะในช่วงฤดูแล้ง ถ้าสามารถลดการใช้พลังงานลงได้ หรือหาพลังงานเชื้อเพลิงอื่นทดแทน หรือมีการวางแผนการใช้น้ำ เช่น หากพื้นที่มีระดับที่ต่างกันมาก สามารถวางท่อนำน้ำออกมาใช้โดยไม่ต้องใช้เครื่องสูบน้ำและน้ำมัน เป็นการจัดการทำให้ต้นทุนการเกษตรลดลงได้ในระยะยาว สำหรับพื้นที่เล็กๆ ประมาณ 1-2 ไร่ สามารถทำเป็นท้องร่องได้โดยกะให้กว้างพอประมาณไม่ให้แคบเกินไปเพราะเนื้อที่แคบน้ำจะขาดแคลน
พื้นที่ส่วนที่ 2 ใช้พื้นที่ 1 ไร่ ใช้ปลูกข้าว การปลูกข้าวด้วยพื้นที่ 1 ไร่ควรใช้วิธีการดำนา หรือ การปลูกข้าวต้นเดียว เพราะจะให้ผลผลิตดี ปริมาณมากกว่าการปลูกข้าวแบบหว่านปกติ เนื่องจากการปักข้าวลงดินเองจะทำให้ข้าวมีผลผลิตดี การเตรียมดิน และปักดำโดยใช้ข้าวจ้าวหอมมะลิ 105 ทำการกำจัดวัชพืชในนาข้าว โดยการถอน และไถกลบ เริ่มแรกอาจมีการปลูกพืชตระกูลถั่วก่อนเนื่องจากถั่ว เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย เจริญเติบโตเร็ว หลังเก็บเกี่ยวสามารถไถกลบและซังพืชจะเป็นปุ๋ยชั้นดีให้นาข้าว
พื้นที่ส่วนที่ 3 มีทั้งหมด 1.5 ไร่ ปลูกพืชแบบผสมผสาน โดยสามารถปลูกมะม่วงพันธุ์โชคอนันต์ ปลูกกล้วยน้ำว้า ปลูกพืชผัก ปลูกไม้ใช้สอย เช่น ต้นสัก ต้นไผ่รวก ไผ่ตง หรือ ต้นหวาย โดยทั้งนี้พื้นที่การปลูกอาจใช้พื้นที่ทั้งหมดที่เหลือโดยพื้นที่สำหรับปลูกสร้างบ้านเรือนก็สามารถปลูกคร่อมพื้นที่ส่วนที่ 3 ได้เช่นเดียวกัน พื้นที่ส่วนที่ 4 นี้มีพื้นที่เหลือประมาณ 3 งาน สามารถใช้เป็นพื้นที่สำหรับสร้างที่อยู่อาศัยและคอกสัตว์เล็กๆ ใต้ถุนเรือน หรือผสมผสานในการปลูกบ้านเรือนยกสูงบนสระน้ำ ให้ใต้ถุนเป็นคอกเลี้ยงเป็ดไก่ หมู ติดกับสระน้ำ โดยในน้ำก็มีการเลี้ยงปลาดุกปลานิลผสมกัน เป็นแนวทางการเกษตรแบบพึ่งพาอาศัยกัน
|