ความล้มเหลวในอาชีพเกษตรส่วนใหญ่มาจากรู้จักแต่ลงทุน ลงแรงผลิตกันอย่างเดียว ไม่ค่อยรู้เรื่องทำการตลาด ถึงเวลาขายเลยเสียเปรียบพวกพ่อค้าคนกลางตลอด “ก่อนจะลงมือปลูกพืช-เลี้ยงสัตว์ ผมจะศึกษาการตลาดว่าเป็นยังไง เปิดกว้างแค่ไหน คนกินต้องการมากหรือไม่ ราคาซื้อขายลงทุนคุ้มหรือเปล่า ทำให้ชีวิตไม่ต้องอยู่กับการขาดทุน มีแต่จะได้กำไรมากหรือมากกว่าที่ตั้งไว้ จึงตัดสินใจมุ่งสู่อาชีพเลี้ยงปลาหมอ ทุกวันนี้สร้างรายได้ให้ครอบครัวถึงหลักล้านบาทต่อปี” นายสุเทพ ปั๋นธิวงค์ เกษตรกรผู้ยึดอาชีพเลี้ยงปลาหมอพันธุ์ชุมพร 1 รายแรกของตำบลแม่แฝกใหม่ อ.สันทราย จ.เชียงใหม่ เล่าถึงที่มาของสูตรสำเร็จในการทำอาชีพเกษตรของตัวเอง
จากกระดาษแผ่นพับใบเดียว ได้จากโครงการคลินิกเกษตรเคลื่อนที่ มีข้อมูลการเลี้ยงปลาหมอพันธุ์ชุมพร 1 ที่มีขนาดตัวใหญ่ เลี้ยงง่าย โตเร็ว ลงทุนน้อย ซึ่งในเชียงใหม่ยังไม่มีใครเลี้ยงกัน ยิ่งกระตุ้นต่อมให้ตัวเองอยากเลี้ยงปลาหมอมากขึ้น จึงเริ่มหาข้อมูลเพิ่มแล้วขอคำปรึกษากับประมงจังหวัด การเลี้ยงปลาหมอไม่ต้องใช้พื้นที่มาก ไม่ต้อง เปลี่ยนถ่ายน้ำบ่อบ่อย เพราะธรรมชาติปลาหมอชอบ อยู่โคลน ประกอบกับราคาลำไยเริ่มถูกลงเรื่อยๆ เลยตัดสินใจเอาต้นลำไยออกบางส่วน ขุดบ่อดินกลางสวน สั่งสายพันธุ์ปลามาจากชุมพร นครศรีธรรมราช และจากภาคอีสาน 10,000 ตัว ทดลองเลี้ยงทั้งในกระชังและบ่อดิน ปรากฏว่า เลี้ยงในกระชังปลาจะเป็นแผลง่าย การจัดการยาก จึงหันมาเลี้ยงบ่อดินอย่างเดียว ใช้สแลนเขียนขึงปากบ่อกันปลาโดดหนี ช่วงกลางคืนเปิดไฟไว้เหนือปากบ่อ เพื่อล่อแมลงมาเล่นไฟ แล้วตกลงไปในบ่อ กลายเป็นอาหารปลาชั้นยอด ช่วย ลดต้นทุนได้ส่วนหนึ่ง ระหว่างรอปลาโตใส่กบลงบ่อเลี้ยงควบคู่ เลี้ยงนาน 4 เดือน ได้น้ำหนัก 700 กก. ขายปลาขนาด 5-7 ตัว/กก. ราคา 100-120 บาท หักค่าอาหาร พันธุ์ปลา ได้กำไรถึง 50,000 บาท จึงขุดบ่อเพิ่ม
ไม่เพียงแค่นั้น ขอบบ่อมีพื้นที่ว่าง จัดการปลูกหอมหลอด คะน้า ผักพื้นบ้าน เพราะน้ำในบ่อเลี้ยงปลามีประโยชน์ เอามารดผักโตเร็วโดยไม่ต้องพึ่งปุ๋ยเคมี เก็บขายเป็นรายได้รายวัน...3 เดือนจับกบขาย...4 เดือนจับปลาต่ออีก ได้เงินคุ้มยิ่งกว่าปลูกมันฝรั่ง ทำสวนลำไยซะอีก แต่เลี้ยงคนเดียวไม่มีความเข้มแข็ง สักวันก็ต้องหยุดเพราะว่าไม่มีอำนาจการต่อรองกับตลาด จึงชวนเพื่อนเกษตรกรมารวมกลุ่ม นอกจากทำให้เพื่อนบ้านมีรายได้ เรายังสร้างกลุ่มเครือข่ายให้ใหญ่ เกิดความมั่นคงในการค้าขาย มีกำลังการผลิตเพียงพอที่จะส่งให้กับพ่อค้าแม่ค้า ยิ่งตอนนี้ร้านอาหารปักษ์ใต้ที่เปิดในเชียงใหม่มากขึ้น นิยมเอาปลาหมอไปแกงเหลือง แกงส้มขายนักท่องเที่ยว ตลาดยิ่งกว้างความต้องการสูง...ล่าสุด แม้แต่พม่ายังสนใจ ติดต่อขอให้ทางกลุ่มส่งปลาหมอไปขายด้วย การฝึกให้เกษตรกรรู้จักยืนเดินด้วยตนเอง รู้จักคิดการวางแผนการผลิตการตลาดควบคู่กับสร้างมูลค่า...มีแต่หนทางนี้ต่างหากที่ช่วยให้เกษตรกร ไทยอยู่รอด...ไม่ใช่สักเอาเงินไปแจกจ่ายกันท่าเดียว.
ที่มา : thairath.co.th
|