ไก่พันธุ์ผสมภูสิงห์ เนื้อแน่นนุ่มไขมันต่ำ เกิดจากการผสมพันธุ์ระหว่างไก่พ่อพันธุ์เป็นพันธุ์ประดู่หางดำ กับไก่แม่พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด จนสายเลือดนิ่งเหมาะแก่การเลี้ยงเชิงพาณิชย์ได้ในปัจจุบัน ไก่พันธุ์โรดไอส์แลนด์เรด มีถิ่นกำเนิดจากประเทศอเมริกา นำเข้ามาเลี้ยงในประเทศไทยตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2498 โดยฝูงไก่ที่เลี้ยงเพื่อการพัฒนาพันธุ์ครั้งนี้เป็นฝูงที่เลี้ยงและรักษาพันธุ์มากว่า 50 ปี จนถือได้ว่าเป็นไก่โรดไอส์แลนด์เรดสายพันธุ์สมบูรณ์ในเมืองไทย ซึ่งแหล่งที่เลี้ยงและพบมากจะอยู่ในพื้นที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกของประเทศไทย ลักษณะประจำพันธุ์ของไก่ชนิดนี้ เพศผู้ มีขนลำตัวสีน้ำตาลแดง ปลายของขนสร้อยคอ ปีก หาง มีสีดำ แข้ง ปาก สีเหลือง ใบหน้าสีแดง หงอนจักร เพศเมีย มีลักษณะเหมือนเพศผู้ อายุให้ไข่ฟองแรกที่ 147-197 วัน น้ำหนักตัวเมื่อให้ไข่ฟองแรก 1,749 - 2,111 กรัม ผลผลิตไข่ 216-266 ฟอง/ปี น้ำหนักไข่ 47-63 กรัม ไก่โรดไอส์แลนด์เรด เป็นไก่กึ่งไข่กึ่งเนื้อ จึงเหมาะจะใช้เป็นสายแม่พันธุ์ในการผลิตไก่ลูกผสมพื้นเมืองไทย ส่วนไก่พื้นเมืองพันธุ์ประดู่หางดำ ได้รับการรวบรวมและพัฒนาสายพันธุ์จากไก่พื้นเมืองภาคเหนือ โดยศูนย์วิจัยและบำรุงพันธุ์สัตว์เชียงใหม่ เพื่อให้เป็นไก่ที่ให้ผลผลิตดี มีความต้านทานต่อโรคและสภาพอากาศของภาคเหนือ ขนาดโตเต็มที่หนัก 2.8-3.5 กก. เริ่มวางไข่เมื่ออายุ 6 เดือน ให้ไข่ปีละ 120- 180 ฟอง/แม่ และผลิตลูกไก่ได้ปีละ 40-60 ตัว/แม่ สามารถฟักไข่และเลี้ยงลูกเอง เหมาะสำหรับนำไปปรับปรุงพันธุ์กับไก่พื้นเมืองที่มีขนาดเล็กอยู่ ให้ได้ไก่ที่มีขนาดโตขึ้น ทนทานต่อโรคและปรับตัวเข้ากับสภาพอากาศในพื้นที่ได้ดี เมื่อ 2 สายเลือดมาผสมพันธุ์กัน จึงได้ลูกไก่พันธุ์ผสมที่มีคุณ สมบัติให้ไข่ดกมีลักษณะสีขน หงอน และคุณภาพเนื้อใกล้เคียงกับไก่พื้นเมือง ในการผสมพันธุ์นั้น ทางงานปศุสัตว์ของศูนย์พัฒนาการเกษตรภูสิงห์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้เอาไก่ทั้งสองสายพันธุ์มาอยู่ด้วยกัน เมื่อตัวเมียไข่ ก็เก็บไข่ไปเข้าในตู้ฟักไข่ที่อุณหภูมิ 37 ํc หลังจาก 7 วันก็นำไข่ออกมาดูว่ามีเชื้ออยู่หรือไม่ โดยสังเกตเส้น เลือดด้านในว่าเห็นเป็นลายสีดำหรือไม่ หากเห็นก็แสดงว่าเชื้อตายทำการคัดออก ฟองใดมีเชื้อก็จะนำไปเข้าตู้ฟักต่อประมาณ 18 วัน นับจากเข้าตู้ฟักไข่ก็นำออกมาไว้ตู้เกิดลูกไก่ประมาณ 2 วัน ลูกไก่ก็จะเจาะเปลือกออกมา จากนั้นนำลูกไก่ไปที่โรงเรือนอนุบาล ปัจจุบันไก่พันธุ์ลูกผสมที่เกิดจากการผสมระหว่างไก่สองสายพันธุ์นี้มีปริมาณมากพอแก่การขยายผลสู่การเพาะเลี้ยงของราษฎรในเชิงพาณิชย์ได้ ที่สำคัญไก่ลูกผสมพันธุ์ภูสิงห์นี้รสชาติของเนื้ออร่อย แน่นนุ่ม ไขมันต่ำเช่นเดียวกับไก่พื้นเมือง แถมให้ไข่ดก ขณะที่มีความเจริญเติบโตได้ดีกว่าไก่พื้นเมือง.
|