กรมชลประทาน กรมฝนหลวงและการบินเกษตร การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ และผู้ว่าราชการใน 22 จังหวัดลุ่มน้ำเจ้าพระยา ร่วมประชุมหาแนวทางอย่างเร่งด่วน วางมาตรการรับมือปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงหน้าแล้ง สร้างระบบจัดการน้ำประปาให้เพียงพอ...
ฤดูแล้งของประเทศไทยกำลังใกล้เข้าทุกขณะ ภัยแล้งถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาในการจัดการน้ำ เพื่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการประกอบอาชีพ เนื่องมาจากประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศทำเกษตรกรรมในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก ซึ่งสถานการณ์ภัยแล้งในขณะนี้ เกิดขึ้นควบคู่กับปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง จนล่วงล้ำเข้ามาในเขตพื้นที่น้ำจืดที่ใช้ทำการเกษตรกรรม
นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยกับ ไทยรัฐออนไลน์ ถึงมาตรการรับมือสถานการณ์ภัยแล้ง ที่คาดว่ามีความรุนแรงมากกว่าปี 2553 ว่า ได้สั่งการให้กรมชลประทาน กรมฝนหลวง และการบินเกษตร การประปานครหลวง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และผู้ว่าราชการใน 22 จังหวัด ลุ่มน้ำเจ้าพระยาประชุมร่วมกันหาแนวทางอย่างเร่งด่วนวางมาตรการรับมือปัญหาน้ำทะเลหนุนสูงในช่วงหน้าแล้ง ตั้งแต่เดือนมีนาคม-พฤษภาคม
ทั้งนี้ มาตรการแก้ไข คือ การเร่งปล่อยน้ำจากเขื่อนใหญ่ เพื่อเจือจางความเค็ม แต่กังวลว่าปริมาณน้ำเขื่อนภูมิพล ร้อยละ 47 เขื่อนสิริกิติ์ มีปริมาณน้ำร้อยละ 53 ที่ต้องประคับประคองไปให้ถึงฤดูฝนเริ่มเดือนมิถุนายน มีความกัวลว่าปล่อยมากไปน้ำในเขื่อนเหลือน้อย เป็นเวลานาน ทำให้เขื่อนพัง หรือแตกร้าวได้ต้องเฝ้าจับตาด้วย ซึ่งเหลือปริมาณน้ำล่าสุด ที่ใช้การได้เพียง 1,100 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับประชาชนในจังหวัดภาคกลางตอนล่างที่ต้องใช้น้ำ 10 กว่าครัวเรือน ในระยะเวลา 3 ถึง 4 เดือนกว่าจะสิ้นสุดฤดูแล้ง
"หน้าแล้งนี้คาดว่ากินเวลายาวนาน ซึ่งเข้าสู่ปรากฏการณ์แอลนิโญ่ คือเกิดภาวะฝนทิ้ง และเป็นช่วงอันตรายมากที่น้ำเค็มลุกล้ำเข้ามาลึกขึ้น ขณะนี้วัดที่ท่าน้ำชลประทานสามเสน 5.45 กรัมเกลือต่อลิตร ที่ท่าน้ำนนท์ 4.45 กรัมเกลือ รวมถึงความเค็มแช่อยู่ในลำน้ำนานขึ้น จนเป็นอันตรายต่อสุขภาพประชาชนที่ใช้น้ำการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งอันตรายต่อการเกษตร เพราะความเค็มซึมเข้าดินมาก มีผลต่อพื้นที่ลุ่มภาคกลาง จะปลูกข้าวไม่ได้เลย หากปลูกก็จะไม่โต และข้าวไม่ออกรวง ซึ่งน่าห่วงข้าวนาปีในฤดูกาลนี้ได้รับผลกระทบ โดยตรงชาวนาต้องงดทำทั้งนาปีและนาปรัง เพราะน้ำไม่มีให้กับกิจกรรมด้านการเกษตร ต้องกักไว้เพื่ออุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ทั้งนี้ ได้เตรียมขออนุมัติงบจาก ครม.จำนวน 45 ล้านบาท ช่วยชาวนาหันไปปลูกพืชอายุสั้นทดแทนการทำนา" นายยุคล กล่าว
เนื่องจากปริมาณน้ำที่ปล่อยระบายจากเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติส์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ วันละ 60 ล้านลูกบากศ์เมตร แต่ได้ถูกเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังรอบแรกต่อเนื่องรอบสองกว่า 8.9 ล้านไร่ ดักสูบน้ำไปเลี้ยงต้นข้าว ก่อนจะเหลือปริมาณน้ำมาถึงข้างล่างไม่ถึง 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ซึ่งจังหวัดปทุมธานี นนทบุรี และกรุงเทพฯ ต้องเผชิญวิกฤติน้ำประปาขาดแคลนแน่นอน เป็นหน้าที่ของการประปาฯ ที่จะเตรียมวางแนวทางการผลิตประปาอย่างไร เพื่อหลีกเลี่ยงช่วงน้ำทะเลหนุนสูง
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเพิ่มเติมจาก นายวิสุทธิ์ นพคุณทอง รองผู้ว่าการ (ผลิตและส่งน้ำ) การประปานครหลวง (กปน.) ในฐานะประธานกรรมการศูนย์อำนวยการเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤติการณ์น้ำและคุณภาพน้ำ เปิดเผยกับไทยรัฐออนไลน์ว่า ปัจจุบัน กปน. รับน้ำดิบเพื่อการผลิตน้ำประปาจาก 2 แห่ง คือ เขื่อนแม่กลอง จ.กาญจนบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา จ.ปทุมธานี โดยน้ำจากเขื่อนแม่กลองที่ผลิตจากโรงงานผลิตน้ำมหาสวัสดิ์ ส่งไปยังผู้ใช้น้ำฝั่งธนบุรีและนนทบุรี บางส่วนจะไม่ได้รับผลกระทบด้านรสชาติน้ำประปา ซึ่งจากการติดตามสถานการณ์น้ำดิบในลุ่มน้ำเจ้าพระยา พบว่า ลิ่มความเค็มปีนี้ขึ้นสูงเหนือ อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา เลยจุดรับน้ำดิบสำแล อ.เมือง จ.ปทุมธานีขึ้นไป
ส่งผลให้ กปน. ไม่สามารถหลีกเลี่ยงการรับน้ำที่มีค่าความเค็ม หรือคลอไรด์ แม้กรมชลประทานจะกำหนดให้น้ำในลุ่มเจ้าพระยา มีไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคเป็นลำดับแรก แต่เนื่องจากจุดรับน้ำดิบของ กปน. อยู่ท้ายสุด ผ่านการใช้น้ำจาก 22 จังหวัดภาคกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการเพาะปลูกของประเทศ แม้กรมชลประทานจะช่วยเพิ่มการผันน้ำมากขึ้นกว่าเดิม แต่ก็ไม่สามารถช่วยผลักดันน้ำเค็มได้มากนัก
"ในแต่ละเดือน กปน. จะต้องเฝ้าระวัง โดยเฉพาะช่วงขึ้น 8 ค่ำ และแรม 8 ค่ำ ซึ่งจะเป็นช่วงที่ระดับน้ำทะเลจะหนุนสูง และส่งผลกระทบต่อการยกตัวของน้ำเค็มเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง กปน.จะมีการปรับวิธีการบริหารจัดการน้ำใหม่ โดยหยุดการสูบน้ำดิบเข้าคลองประปา ในช่วงที่ค่าคลอไรด์สูง และรอจนกว่าลิ่มความเค็มจะลดต่ำลงจึงจะทำการสูบน้ำดิบตามปกติ และยกระดับน้ำในคลองประปาให้สูงขึ้น เพื่อสำรองน้ำดิบที่มีค่าความเค็มอยู่ในเกณฑ์นำมาผลิตน้ำประปาให้ได้มากที่สุด แต่หากลิ่มความเค็มไม่ลดลง กปน. จำเป็นต้องผลิตน้ำประปาที่มีค่าคลอไรด์สูง เพื่อให้ประชาชน 10 ล้านคน ไม่ขาดแคลนน้ำประปาเพื่อการอุปโภค" นายวิสุทธิ์ กล่าว
นายวิสุทธิ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม กปน.ยังคงรักษาคุณภาพน้ำประปาตามเกณฑ์มาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ยกเว้นรสชาติ ที่บางช่วงเวลาในแต่ละวัน น้ำประปาอาจมีรสชาติเปลี่ยนไป ซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย แต่อาจทำให้เกิดความรู้สึกกระหายน้ำ คอแห้ง ปากแห้ง
"ฤดูแล้งปีนี้ อาจยาวนานไปถึงเดือนมิถุนายน เป็นไปได้ว่าอาจส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำของ กปน. แต่ผู้บริหารและพนักงานทุกคน จะช่วยกันแก้ไขปัญหา และลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้ กปน.จะมีการแจ้งข้อมูลข่าวสารให้ทราบเป็นระยะๆ จนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะปกติ" นายวิสุทธิ์ กล่าว.
ยินดีต้อนรับสู่ ตลาดเกษตร (http://www.farmthailand.com/webboard/) | Powered by Discuz! X3.1 |