Home / ข่าวเกษตร / GSP คืออะไร ทำไมสหรัฐถึงต้องตัดสิทธิ์ !?

GSP คืออะไร ทำไมสหรัฐถึงต้องตัดสิทธิ์ !?

         จากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ลงนามระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP (จีเอสพี) กับ สินค้าไทยมีมากถึง 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 39,650 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า “ไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล” ซึ่งสินค้าไทยที่อยู่ในรายการที่จะถูกตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

GSP

GSP

แล้ว GSP คืออะไร?

GSP ย่อมาจาก (General of System of Preferences) คือ “สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย” โดยไม่ต้องเสียภาษีสินค้านำเข้าบางรายการ เมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิ

อีกทั้งเพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน เป็นต้น

ประโยชน์ของ GSP สำหรับประเทศที่ได้รับสิทธิ

แน่นอนว่าหากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาการได้สิทธิ GSP จะเกิดกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะเมื่อเราขายสินค้าได้ จะเกิดการผลิต การจ้างงาน และทำให้เศรษฐกิจของประเทศที่ได้รับสิทธิมีความเจริญเติบโต ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและมาตรฐานการครองชีพคนงานในประเทศดีขึ้น

นอกจากนี้ GSP ยังมีส่วนช่วยผู้ประกอบการของประเทศผู้ให้เองสามารถลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เมื่อนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอีกด้วย

การให้สิทธิ GSP

การให้สิทธิ GPS เป็นการให้สิทธิแบบฝ่ายเดียว คือประเทศที่ให้สิทธิ GSP ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่เป็นการให้แบบ ‘มีเงื่อนไข’ กล่าวคือประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้วางไว้ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา

โดยประเทศผู้มีสิทธิ์ได้รับ GSP จากสหรัฐฯ จะต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว ไม่เกิน 12,476 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราว 3.7 แสนบาท) ในส่วนประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6 พันเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราว 1.8 แสนบาท) และต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ

ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล มีความพยายามในการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และมีเงื่อนไขอื่นๆ ด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ

ปัจจุบันสหรัฐฯให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่างๆ ประมาณ 125 ประเทศ ครอบคลุมสินค้าประมาณ 3,500 รายการ โดยสหรัฐเริ่มให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศต่างๆ โดยออกเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2517

สหรัฐฯเคยตัดสิทธิ GSP ในหลายประเทศมาแล้ว

ในอดีตนั้นสหรัฐฯมีการยกเลิกการให้สิทธิ GPS แก่ประเทศต่างๆ เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่วางไว้ อาทิ กรณีไม่คุ้มครองสิทธิแรงงาน เช่น ประเทศบังกลาเทศ ในปี 2556 เบลารุส ในปี 2543 , กรณีไม่คุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ประเทศ ฮอนดูรัส ในปี 2541 ยูเครน ในปี 2544

และล่าสุดคือ ‘ประเทศไทย’ กรณีไม่มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ส่งผลให้สินค้าไทย 573 รายการ ถูกตัดสิทธิโดยมีผลตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563

ไทยกระทบอย่างไรบ้าง…?

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์ กล่าวถึงกรณีสหรัฐอเมริกาตัดสิทธิทางภาษีสินค้าไทย โดยระบุว่าปัจจุบันสหรัฐให้สิทธิ GSP สินค้าไทยที่ส่งออกไปยังสหรัฐฯ รวมทั้งหมด 1,800 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่ไทยไม่ได้ใช้สิทธิ์เต็มตามจำนวนที่ให้สิทธิ์ โดยใช้สิทธิ์แค่ 1,300 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น

 

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

โดยผลกระทบจากการตัดสิทธิ GSP จะทำให้สิค้าไทยที่ส่งออกไปยังประเทศสหรัฐฯ จะต้องเสีนภาษีนำเข้าสหรัฐ ซึ่งจากเดิมไม่ต้องเสีย โดยจะต้องเสียภาษีเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4-5 ซึ่งภาระทางภาษีแต่ละปี เมื่อคำนวณแล้วประมาณ 1,500-1,800 ล้านบาท

ส่งผลให้สินค้าไทย 573 รายการ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเภทของกินและของใช้ อาทิอาหารทะเล ผักและผลไม้ เมล็ดพันธุ์ น้ำเชื่อมและน้ำตาล ซอสถั่วเหลือง น้ำผักและน้ำผลไม้ ไปจนถึงอุปกรณ์เครื่องครัว ประตูหน้าต่าง ไม้อัดและไม้แปรรูป ตะกร้า ดอกไม้ประดิษฐ์ จานชาม เครื่องประดับ เหล็กแผ่น สแตนเลส ฯลฯ

นายกฯ เตรียมหารือสหรัฐฯ ทบทวนระงับ GSP

พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เปิดเผยว่า ไม่อยากให้มีการคาดเดา หรือ ตื่นตระหนก กรณีที่สหรัฐอเมริกาตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร หรือ GSP แก่สินค้าส่งออกบางประเภทจากไทยว่าเกิดจากเหตุผลอะไร เพราะอาจจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง หรือ เกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ขึ้นจนทำให้สถานการณ์ยิ่งเลวร้ายไปกว่าเดิม

ทั้งนี้ที่ผ่านมารัฐบาลทราบถึงปัญหาในจุดนี้อยู่แล้ว แต่ก็ยังพบว่ามีปัจจัยจากปัญหาเรื่องของแรงงาน จึงจะใช้เวทีการประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน ที่มีผู้แทนสหรัฐอเมริการ่วมประชุม หยิบยกนำประเด็น GSP ขึ้นาหารือ

ทางด้าน นายกีรติ รัชโน ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ระบุว่า ได้เชิญผู้ประกอบการหารือเพื่อรับทราบสถานการณ์ และประเมินผลกระทบหากถูกเพิกถอนสิทธิ GSP ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2561

โดยแนะนำให้ผู้ประกอบการ หาตลาดใหม่ทดแทนตลาดเดิม เช่น รัสเซีย ยุโรปตะวันออก อเมริกาใต้ ตะวันออกลาง ฯลฯ ตลอดจน การใช้ประโยชน์จากประเทศที่ไทยจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี FTA 13 กรอบความตกลง จาก อาเซียน จีน ญี่ปุ่น อินเดีย ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ชิลี และเปรู และขยายการลงทุนไปยังประเทศที่ยังคงได้รับสิทธิ GSP สหรัฐฯ

ขอบคุณข้อมูล : กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ

Comments

comments

About Harubiji Pee

Avatar
" วิศวกร จันทร์ ถึง ศุกร์ วันหยุด เป็นเกษตรกร "

เว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง