“มะนาว” พืชเศรษฐกิจคู่ครัวไทย
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Citrus aurantifolia (Christm.)
มะนาว มีลักษณะเป็นลูกกลมเล็ก มีรสชาติเปรี้ยว เหมาสำหรับการนำมาปรุงรสอาหาร ทำให้รสอาหารมีรสชาติที่กลมกล่อมมากยิ่งขึ้น มะนาวเป็นพืชที่อยู่คู่กับคนไทยมาช้านาน แถมยังเป็นพืชเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้กับประเทศเป็นอย่างมาก เรียกได้ว่า มีติดครัวกันแทบทุกบ้าน
นอกจากรสชาติเปรี้ยว ที่ใช้ในการปรุงรสของอาหารแล้ว มะนาว ยังมีสรรพคุณทางยา การรักษาผิว และรูปร่างได้ดีอีกด้วย นอกจากนี้ มะนาว ยังสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน ไม่ว่าจะเป็น ราก ใบ ดอก เมล็ด เปลือก ต่างก็มีสรรพคุณคุณทางยามากมาย ถือว่าเป็นยาอายุวัฒนะชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะน้ำมะนาวนั้น ยังช่วยดูแลผิวพรรณให้ผุดผ่อง ช่วยให้รูปร่างสมส่วน ใช้ทำความสะอาดเครื่องเรือนและ ยังช่วยเจริญอาหารอีกด้วย
ส่วนประกอบของน้ำมะนาว
- กรดมาลิค (Malic Acid)
- กรดแอสคอร์บิก (Ascorbic Acid)
- กรดซิตริค (Citric Acid)
มะนาว อุดมไปด้วยสารฟลาโวนอยด์ ที่ช่วยลดอาการอักเสบได้ดี และไปควบคุมความดันโลหิต ช่วยยับยั้งการแพร่กระจายของเชื้อโรค ยับยั้งเชื้อมะเร็งในระดับเริ่มต้น เรียกได้ว่าประโยชน์นั้นมีมากมายทีเดียวครับ
เรามาดูพันธุ์มะนาวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจกันบ้างครับ
พันธุ์มะนาวที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ
- มะนาวหนัง ผลอ่อน มีลักษณะกลมยาวหัวท้ายแหลม เมื่อโตเต็มที่ผลจะมีลักษณะกลมค่อนข้างยาว มีกลมมนบ้างเล็กน้อยด้านหัวมีจุกเล็กๆ มีเปลือกค่อนข้างหนา จึงทำให้เก็บรักษาผลไว้ได้นาน
- มะนาวไข่ ผลอ่อน มีลักษณะกลมยาว หัวท้ายแหลมเมื่อโตเต็มที่ ผลจะมีลักษณะกลมมนเป็นบางส่วนมาก เปลือกบางผลโตกว่ามะนาวหนัง
- มะนาวแป้น เป็นมะนาวที่สามารถให้ดอกออกผลตลอดปี ผลมีขนาดกลาง ทรงผลแป้นเปลือกบาง มีหลายพันธุ์ เช่นพันธุ์แป้นรำไพ แป้นราย เป็นต้นโดยส่วนใหญ่แล้ว เกษตรกรไทยนิยมปลูกมะนาวแป้นกันครับ
เราสามารถผลิตมะนาวนอกฤดูกาลได้หรือไม่?
การผลิตมะนาวนอกฤดู
ในเดือนกรกฎาคม ควรทำการเก็บผลมะนาวที่ติดในฤดูปกติให้หมดและบำรุงต้นมะนาวให้สมบูรณ์สำหรับสวนมะนาวที่จะทำผลผลิตขายในฤดูแล้งในปีถัดไป จะต้องเริ่มตัดแต่งกิ่งตัดลูกที่อยู่บนต้นออกให้หมดตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม หลังจากนั้นให้ใส่ปุ๋ยทางดินสูตร 25-7-7 อาจจะผสมปุ๋ยอินทรีย์เป็นมูลไก่อัดเม็ดอย่างละครึ่งต่อครึ่ง หลังหว่านปุ๋ยต้องให้น้ำให้ชุ่ม พร้อมกับพ่นปุ๋ยทางใบ จะช่วยให้มะนาวแตกยอดอ่อนได้ครับ
เจ้าพืชมะนาวเศรษฐกิจต้นนี้ก็มีโรคและแมลงศัตรูด้วยนะครับ
โรคที่สำคัญ
- โรคแคงเกอร์ (Canker) อาการที่ใบและผลจะมีลักษณะคล้ายกัน คือ จะเกิดเป็นแผลกลม และจะขยายใหญ่ ฟู นูน คล้ายฟองน้ำมีสีเหลืองอ่อนหรือสีเหลืองเข้ม ต่อมาจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มและจะแตกเป็นสะเก็ด มีวงแหวนสีเหลืองล้อมรอบแผล ส่วนอาการที่กิ่งก้านจะมีแผลฟูนูน สีเหลือง ต่อมาแผลจะแตกแห้งเป็นสีน้ำตาลขยายไปรอบๆกิ่ง รูปร่างรอยแผลไม่แน่นอนและไม่มีวงแหวนล้อมรอบ เมื่อต้นมะนาวเป็นโรคนี้มากๆจะแสดงอาการต้นโทรม แคระแกร็น ใบร่วงผลผลิตลดลง กิ่งหรือต้นจะแห้งตายในที่สุด
การป้องกันกำจัด ตัดแต่งส่วนที่เป็นโรค เผาทำลายไม่ขยายพันธุ์จากต้นแม่ที่เป็นโรคแคงเกอร์พยายามอย่าให้มะนาวเกิดบาดแผล และป้องกันแมลงที่เป็นพาหะ เช่น หนอนชอนใบ หรือฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่ม คาร์บาริล มาลาไธออน
- โรคกรีนนิ่ง (ใบแก้ว) ใบจะด่างเป็นสีเหลืองหรือขาวใสระหว่างเส้นใบ ใบมีขนาดเล็กลง ในที่สุดใบ และยอดจะแห้งตายผลมีขนาดเล็ก น้ำหนักน้อย ต้นจะโทรม
การป้องกันกำจัด ทำลายส่วนที่เป็นโรคด้วยการเผาไฟ ใส่ปุ๋ยที่มีธาตุสังกะสี
แมลงศัตรูที่สำคัญ
- หนอนชอนใบ จะทำความเสียหายให้กับมะนาวในระยะแตกใบอ่อน โดยจะชอบไซกัดกินอยู่ระหว่างผิวใบด้านหน้าและหลังใบ จะมองเห็นเป็นทางสีขาวคดเคี้ยวไปมา ใบหงิกงอ ขอบใบม้วนเข้าหาเส้นกลางใบ
การป้องกันกำจัด ใช้ คาร์บาริล มาลาไธออน หรือ ฟอร์ไมไธออส อัตราที่ที่ฉลากกำหนด
- หนอนกินใบ (หนอนแก้ว) จะกินใบอ่อนและยอดอ่อนของมะนาว
การป้องกันกำจัด หมั่นตรวจดูตามใบอ่อนและยอดอ่อน เมื่อพบไข่และตัวหนอนก็จับทำลาย ฉีดพ่นสารเคมีกำจัดแมลงกลุ่ม เมทามิไดฟอส
- เพลี้ยไฟ จะดูดกินน้ำเหลืองที่ยอดอ่อนใบอ่อนและผลการทำลายจะรุนแรงในระยะผลอ่อนนับตั้งแต่เริ่มติดผล ช่วงระยะการระบาดจะขึ้นอยู่กับการแตกยอดอ่อน
การป้องกันกำจัด เด็ดผลที่แคระแกร็น ถ้าพบการทำงายของเพลี้ย ให้ฉีดพ่นด้วยสารเคมีกำจัดแมลงได้แก่ คาร์ไบซัลแฟต เปอร์เมทริน
ข้อมูล : สาขาไม้ผล คณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้